วันเสาร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

เต้นกำรำเคียว

เต้นกำรำเคียว



เป็นการแสดงพื้นเมืองที่เก่าแก่ของชาวชนบทในภาคกลาง แถบจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งชาวชนบทส่วนมากมีอาชีพการทำนาเป็นหลัก และด้วยนิสัยรักสนุกกับการเป็นเจ้าบทเจ้ากลอน จึงได้เกิดการเต้นกำรำเคียวขึ้น ในเนื้อเพลงจะสะท้อนให้เห็นสภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ลักษณะการรำ จะเน้นความสนุกเป็นใหญ่ มีทั้งเต้นและรำควบคู่กันไป ในมือของผู้รำข้างหนึ่งจะถือเคียว อีกข้างหนึ่งถือข้าวที่เกี่ยวแล้ว จึงเรียกการแสดงนี้ว่า "เต้นกำรำเคียว" จะเล่นกันในฤดูเกี่ยวข้าว

วิธีเล่น ผู้เล่นประมาณห้าคู่ แบ่งผู้เล่นเป็นสองฝ่าย ฝ่ายชายเรียกว่า พ่อเพลง ฝ่ายหญิงเรียกว่า แม่เพลง เริ่มด้วยพ่อเพลงร้องชักชวนแม่เพลงให้ออกมาเต้นกำรำเคียว โดยร้องเพลงและเต้นออกไปรำล่อฝ่ายหญิงและแม่เพลงก็ร้องและรำแก้กันไป ซึ่งพ่อเพลงแม่เพลงนี้อาจเปลี่ยนไปหลายๆคน ช่วยกันร้องจนจบเพลง ผู้ที่ไม่ได้เป็นพ่อเพลงแม่เพลงก็จะเป็นลูกคู่ ปรบมือและร้องเฮ้ เฮ้วให้จังหวะ

เครื่องแต่งกาย ฝ่ายชายจะนุ่งกางเกงขาก๊วยและเสื้อกุยเฮงสีดำ มีผ้าขาวม้าคาดพุงสวมงอบไม่สวมรองเท้า ฝ่ายหญิงจะนุ่งโจงกระเบนและเสื้อกระบอกสีดำทั้งชุด ทัดดอกไม้ที่หูขวาและไม่สวมรองเท้าเช่นกัน ผู้แสดงทุกคนถือเคียวในมือขวา และถือรวงข้าวในมือซ้าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น